http://www.kanyafarm.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 Home

 Facebook

 Visitor

 Product

 Gallery

 Webboard

 Contact

 English

สถิติ

เปิดเว็บ13/08/2009
อัพเดท07/07/2021
ผู้เข้าชม1,892,092
เปิดเพจ2,832,840

เก๋าปะการัง..เพาะพันธุ์ได้แล้ว! ประมงเตรียมขยายเชิงพาณิชย์

เก๋าปะการัง..เพาะพันธุ์ได้แล้ว! ประมงเตรียมขยายเชิงพาณิชย์

ปลาเก๋าปะการัง หรือปลากะรังหน้าหนู เป็นปลาเก๋าอีกชนิดหนึ่งที่มีราคาสูง เพราะมีรสชาติอร่อย เดิมทีราคาอยู่ที่ กก.ละ 200-300 บาท ปัจจุบันพุ่งสูงถึง 600 บาทต่อ กก. เพราะมีการส่งออกไปจำหน่ายยังไต้หวัน ฮ่องกง ทั้งยังส่อแววใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมาย และสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ส่งผลให้การผสมพันธุ์ในธรรมชาติลดลง แต่ปัจจุบันนี้ กรมประมงสามารถเพาะเลี้ยงปลาเก๋าพันธุ์นี้ได้แล้ว




นายเกรียงศักดิ์ เผด็จภัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด เปิดเผยว่า จากการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ที่จับมาจากธรรมชาติจำนวน 11 ตัว เมื่อปี 2555 มาเพาะเลี้ยงไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด 30 ตัน ติดตั้งเครื่องกำจัดตะกอนโปรตีน แอมโมเนีย และสารพิษอื่นๆ เลี้ยงโดยให้อาหารเป็นปลาสด หมึกสด และอาหารปั้นเม็ดด้วยมือวันเว้นวัน เพื่อให้อาหารจมและกินได้พอดีกับปากของปลา เนื่องจากปลาที่นำมาจากธรรมชาติจะไม่ลอยตัวขึ้นมากินอาหารบนผิวน้ำ พร้อมเสริมวิตามินอี น้ำมันตับปลา วิตามินซี และฮอร์โมนลงอาหารเม็ดปั้นด้วยมือ ปรากฏว่า ปลาเก๋าปะการังผสมพันธุ์กันเองแบบธรรมชาติเป็นครั้งแรกของไทย มีการผสมพันธุ์ครั้งแรก เมื่อ 10-13 มี.ค.56 ได้ลูกปลา 500 ตัว ครั้งที่สอง เมื่อ 9-19 เม.ย.56 ได้ลูกปลา 1,300 ตัว ซึ่งสามารถรอดชีวิตได้ ทั้งหมด ส่วนการผสมพันธุ์ครั้งที่สาม เมื่อ 8-15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ลูกปลา 10,000 กว่าตัว คาดว่าจะมีอัตรารอด 80% หรือ 8,000 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของวงการประมงไทย เนื่องจากการผสมพันธุ์ของปลาสายพันธุ์นี้ เคยมีบันทึก อินโดนีเซียสามารถเพาะได้ในขั้นการวิจัย แต่ยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้

ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด บอกอีกว่า ปลากะรังหน้าหนู เป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลาเก๋า ปลากะรังที่มีอยู่หลายชนิด เป็นปลาที่หาได้ยากตามธรรมชาติ อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากแนวปะการังถูกทำลายได้รับความเสียหายจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากปลาพันธุ์นี้จะอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง

ทั้งนี้การเพาะเลี้ยงแล้วเกิดการผสมพันธุ์กันแบบธรรมชาติ ในทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราดจะได้ทำการวิจัยเพื่อจะนำ
ไปปล่อยคืนธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งจะทดลองให้ชาวประมงเพาะเลี้ยงในกระชังเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้กับชาวประมงต่อไป.

ที่มา  http://www.thairath.co.th/


Tags :

view
view