http://www.kanyafarm.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 Home

 Facebook

 Visitor

 Product

 Gallery

 Webboard

 Contact

 English

สถิติ

เปิดเว็บ13/08/2009
อัพเดท07/07/2021
ผู้เข้าชม1,890,471
เปิดเพจ2,830,454

นำร่องขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลากหวังลดปริมาณการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

นำร่องขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลากหวังลดปริมาณการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

               ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินของประเทศไทย อยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากการจับสัตว์น้ำในปริมาณมากเกินไป รวมทั้งมีการจับลูกสัตว์น้ำขนาดเล็กมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุหลัก ๆ ของเรื่องนี้เกิดจากการที่จำนวนเรือประมงอวนลากในน่านน้ำไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการใช้อวนที่มีขนาดตาอวนก้นถุงของเครื่องมือประมงที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่มีสัดส่วนของปลาขนาดเล็กติดมามาก


นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากเป้าหมายของแผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย ที่ตั้งเป้าไว้ว่าผลของการจับสัตว์น้ำในการทำประมงจะต้องได้ปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ซึ่งสวนทางกับประชากรสัตว์น้ำในปัจจุบันที่มีปริมาณลดน้อยลง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น การทำประมงเกินสมดุลที่ธรรมชาติผลิต การจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่า เครื่องมือประมงที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูง เป็นต้น

นายสุรจิตต์ กล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาของกรมประมงที่ผ่านมา พบว่า เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง และอวนลากคู่ บริเวณอ่าวไทย องค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำที่จับได้ มีสัดส่วนของปลาเป็ดร้อยละ 50.01 49.08 และ 36.08 ตามลำดับ โดยเป็นสัดส่วนของลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 33.62 30.65 และ 47.77 ตามลำดับ ส่วนฝั่งอันดามัน องค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำที่จับได้ มีสัดส่วนของปลาเป็ดร้อยละ 69.53 58.53 และ 71.94 ตามลำดับ เป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 66.27 60.22 และ 75.85 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำประมงอวนลากสามารถจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมายได้ในสัดส่วนที่สูงโดยเฉพาะลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จนทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อนขนาดอันควร

จากสาเหตุดังกล่าว กรมประมงร่วมกับ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย จัดให้มีโครงการนำร่องการขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลาก เพื่อให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมในการทดลองใช้ตาอวนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากขนาด 2.5 เซนติเมตร เป็นขนาด 4 เซนติเมตร โดยมีศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ให้ความร่วมมือทางด้านเทคนิคของการติดตั้งอวนเพื่อการทดลอง และถ่ายทอดผลการขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลากแก่กลุ่มชาวประมงให้ได้รับทราบข้อมูล รวมทั้งเห็นถึงความสำคัญและหาแนวทางร่วมกันในการขยายขนาดตาอวนดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการลดการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจในเรือประมงอวนลาก เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน

“ที่ผ่านมากรมประมงได้ทดลองขยายขนาดตาอวนก้นถุงของเรือประมงอวนลาก โดยดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง พบว่า การใช้ตาอวนก้นถุง 4 เซนติเมตร เป็นวิธีการโดยตรงที่จะช่วยลดปริมาณการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ปนอยู่ในปลาเป็ดลงได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ปลาเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เจริญเติบโต ดังนั้น การขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลากนอกจากจะส่งผลดีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ และสร้างความยั่งยืนให้กับการทำประมงในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างความชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากปลาเป็ดเพื่อผลิตเป็นปลาป่นสำหรับเป็นส่วนประกอบของอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยอีกด้วย” รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/

Tags :

view
view