http://www.kanyafarm.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 Home

 Facebook

 Visitor

 Product

 Gallery

 Webboard

 Contact

 English

สถิติ

เปิดเว็บ13/08/2009
อัพเดท07/07/2021
ผู้เข้าชม1,892,440
เปิดเพจ2,833,347

เพาะลูกปลาขาย รายได้ปีละ 300,000 บาท

เพาะลูกปลาขาย รายได้ปีละ 300,000 บาท

นายทองใส สมศิริ เกษตรกร ต.ห้วยติ๊กชู อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ อดีตมีอาชีพรับจ้างทั่วไป อาศัยขายแรงงานหารายได้เลี้ยงชีวิตและครอบครัว มีกินมีใช้แบบวันต่อวัน วันไหนไม่มีงานวันนั้นก็ไม่มีเงิน ชีวิตหมดความมั่นคง มองไม่เห็นอนาคต

มาวันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่ผ่านมา รับทราบข่าวว่าทางศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ติ๊กชู อ.ภูสิงห์  จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพัก เปิดการฝึกอบรมอาชีพให้ราษฎรในพื้นที่หลายแขนงด้วยกัน ตั้งแต่การปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาปลูกพืชได้อีกครั้งหนึ่ง การเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ผสมเชิงพาณิชย์ การเพาะเห็ดการปลูกมะนาว การปลูกไม้ผล ตลอดถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น จึงสมัครเข้าร่วมอบรม

โดยเข้าอบรมในหลักสูตรการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน และการเลี้ยงปลา ตามรูปแบบของทฤษฎีใหม่ จากนั้นกลับมาปรับพื้นที่ของตนเองที่เดิมใช้ทำนาและปลูกไม้ผลบ้างมาเป็นการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว 30 เปอร์เซ็นต์ ขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ในครอบครัวและรดต้นไม้ที่ปลูก พร้อมเลี้ยงปลา กบ ในสระ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกพืชยืนต้นประเภทให้ผล เช่น มะม่วง มะพร้าว และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัย และปลูกพืชผักไว้กินภายในครอบครัว จะได้ไม่ต้องไปซื้อจากตลาด หลังบ้านเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองแบบปล่อยตามธรรมชาติ และเลี้ยงหมู

และในการอบรมครั้งนั้นนายทองใส  ยังได้เรียนรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดหลายชนิดด้วยกัน จึงนำมาขยายผลทำบริเวณข้างสระน้ำที่ขุดขึ้นมาเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ เป็นบ่อเพาะขยายพันธุ์ปลาเองเพื่อปล่อยในสระน้ำ  และจากที่มีความขยันสนใจศึกษาพัฒนาการทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรรายนี้จึงมีความสามารถในการเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดจนได้ปริมาณปลาจำนวนมากในการผสมแต่ละครั้ง ควบคู่กับการดูแลในขั้นตอนของการอนุบาลลูกปลาอย่างถูกต้องตามหลักการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลา ทำให้ได้ลูกปลาจาก การผสมแต่ละครั้งจำนวนมาก เป็นที่รับรู้ของประชาชนในพื้นที่ที่ต่างเดินทางเข้ามาขอซื้อลูกปลาเพื่อนำไปปล่อยในสระน้ำของตนเองเลี้ยงไว้กินและขายเป็นจำนวนมาก จนทำให้ปัจจุบันเกษตรกรรายนี้มีรายได้จากการจำหน่ายลูกปลาอย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ข้าวมีกินไม่ต้องซื้อ ปีละครั้งไม้ให้ผลประจำฤดูกาลเก็บขายได้เงินอีกต่างหาก ไข่ไก่และเนื้อไก่มีกินจากที่เลี้ยงเอง ส่วนหมูขายปีละครั้ง วันนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงในชีวิต ไม่อดอยาก มีเงินเก็บเพื่อความมั่นคงของครอบครัว

สำหรับการเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ดูเสมือนเป็นรายได้หลักของเกษตรกรรายนี้ในปัจจุบัน เป็นการดำเนินการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ประการใด เพียงแต่ให้ความสนใจและดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีเท่านั้น

นายทองใส บอกว่า ขั้นต้นได้ใช้เงินประมาณ 10,500 บาท ในการสร้างบ่อเพื่อการอนุบาลลูกปลา เป็นบ่อซีเมนต์ขนาดกว้าง 120 เซนติเมตร ยาว 2-3 เมตร ใช้ท่อระบายน้ำ  พีวีซี ขนาด 1 - 2 นิ้ว เพื่อระบายน้ำจากบ่อ ภายหลังจากทำความสะอาดบริเวณในบ่อและขอบบ่อแล้วนำปูนขาวและปุ๋ยคอก ประเภท ขี้วัวและขี้ไก่พันธุ์ไก่ไข่โรยบริเวณในบ่อและขอบบ่อ โดยพื้นที่ 1 งาน จะใช้ขี้วัว 100 กก. ขี้ไก่ 50 กก. ปูนขาว 10-20 กก. ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำน้ำเข้าบ่อในวันที่ 8

จากนั้นก็เริ่มผสมพันธุ์ปลาที่เตรียมไว้ในสระ ด้วยการกระตุ้นปลาให้มีความพร้อมในการผสมพันธุ์โดยบดยาเม็ดโมติเนียมเอ็มให้ละเอียดผสมน้ำยาฮอร์โมน 10 ไมโคร น้ำกลั่น 90 ไมโคร ผสมให้เข้ากัน ซึ่งใช้กับแม่พันธุ์ปลาตามสูตรแม่ปลาหนัก 1 กก. ใช้น้ำยา 100 ไมโคร ฉีดเข้าแม่พันธุ์

โดยฉีดยาเวลา 19.00–20.00 น. แล้วนำมารีดไข่เวลา 04.00–05.00 น. จากนั้นผ่าตัดเอาฮอร์โมนจากพ่อพันธุ์มาผสมกับไข่ของแม่พันธุ์ คนให้เข้ากันจึงนำไข่ลงบ่อเวลา 06.00 น. โดยประมาณ แล้วนำไข่ลงบ่ออนุบาลซึ่งลูกปลาจะติดให้เห็นภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นให้อาหารพอสมควรโดยใช้หัวอาหารปลาดุกเล็ก ดูแลให้อาหารอย่างต่อเนื่องเมื่อโตและแข็งแรงเต็มที่จึงช้อนใส่ถุงขายให้ กับผู้ซื้อในราคาตัวเล็ก 50 สตางค์ ตัวโตหน่อยก็ 1 บาท ต้นทุนในการเพาะขยายพันธุ์ปลาตลอดถึงการอนุบาลก่อนจับจำหน่ายดังที่กล่าวมานี้ นายทองใส บอกว่า จะอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาทต่อปี ขณะที่ขายได้ประมาณ 300,000 บาทต่อปี สำหรับปลาที่นำมาผสมพันธุ์นั้นก็มีปลาดุก ปลาตะเพียน และปลานิล โดยปลาดุกจะขายได้ดีที่สุดเพราะประชาชนในพื้นที่ชอบรับประทานจึงมีการเลี้ยงกันมาก

“การทำเกษตรเช่นนี้จะมีกิจกรรมให้   ทำตลอดทั้งปี และมีรายได้จากผลผลิตตลอด   ทั้งปีเช่นกัน ทำให้ชีวิตดีขึ้น มีรายได้เพียงพอส่งลูกหลานได้เรียนสูง ๆ ซึ่งต่างจากการเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไปที่รายได้ไม่แน่นอนและไม่ค่อยพอกิน” นายทองใส กล่าว 

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้เป็นแหล่งเรียนรู้งานของเกษตรกรทั่วไปที่เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”


ที่มา : http://www.dailynews.co.th/

Tags :

view
view